อวัยวะเสียหายหรือติดเชื้อ

อวัยวะเสียหายหรือติดเชื้อ

การติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial infection) เป็นคำที่เราได้ยินค่อนข้างบ่อย และโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายๆ โรค ก็เป็นโรคที่เราคุ้นเคย เช่น อหิวาตกโรค โรคปอดบวม วัณโรค โรคฉี่หนู โรคบาดทะยัก และโรคไอกรน เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วแบคทีเรียนั้นอยู่รอบตัวเรา ทั้งในร่างกาย บนผิวหนัง และในสิ่งแวดล้อมที่เราสัมผัสอยู่ ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้มักเป็นเชื้อประจำถิ่นที่ไม่ก่อโรค แต่ก็มีแบคทีเรียหลายชนิดที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะก่อโรคทำให้เกิดอาการผิดปกติในระบบต่างๆ ได้ ตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรงถึงชีวิตเลยทีเดียว

เชื้อแบคทีเรียคืออะไร?
แบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็กที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เชื้อแบคทีเรียนั้นแตกต่างจากเชื้อราที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีหลายเซลล์ และต่างจากเชื้อไวรัสที่เป็นเพียงสารพันธุกรรมซึ่งมีขนาดเล็กมาก แบคทีเรียชนิดที่ก่อโรค เมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจแทรกตัวเข้าไปสู่ในเซลล์ต่างๆ สร้างสารพิษ หรือกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองจนเกิดความผิดปกติได้

ประเภทของเชื้อแบคทีเรีย
การแบ่งประเภทแบคทีเรียนั้นขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง ยกตัวอย่างเช่น

  • หากแบ่งตามรูปร่าง หลักๆ จะแบ่งได้เป็น แบคทีเรียรูปร่างกลม (Cocci) และแบคทีเรียรูปร่างแท่ง (Bacilli)
  • หากแบ่งตามส่วนประกอบบนผนังและเยื่อหุ้มเซลล์ จะแบ่งเป็น แบคทีเรียแกรมบวก (Gram positive) และ แบคทีเรียแกรมลบ (Gram negative) ซึ่งเมื่อย้อมด้วยสีแกรมจะมองเห็นสีแตกต่างกัน
  • หากแบ่งตามการใช้ออกซิเจน จะแบ่งได้เป็น แบคทีเรียที่ต้องใช้ออกซิเจน (Aerobic bacteria) และแบคทีเรียที่ไม่ต้องใช้ออกซิเจน (Anaerobic bacteria) ในการเจริญเติบโต 

การติดเชื้อแบคทีเรียที่ระบบต่างๆ
แบคทีเรียนั้นสามารถเข้าไปก่อโรคในแทบทุกระบบทั่วร่างกาย เนื่องจากแบคทีเรียแต่ละชนิดมีแหล่งที่อยู่ และกลไกการก่อโรคแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างระบบ/อวัยวะในร่างกายที่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้ ได้แก่

  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง มักก่อให้เกิดผิวหนังอักเสบ แผลติดเชื้อ ฝี หรือหนอง ขึ้นที่ผิวหนังบริเวณดังกล่าว ซึ่งแบคทีเรียที่มักเป็นตัวการ คือแบคทีเรียแกรมบวกรูปร่างกลม (Gram positive cocci) เช่น Staphylococcus aureus และ Streptococcus pyogenes นอกจากนี้ ยังมีแบคทีเรีย anaerobic บางชนิดที่ทำให้เกิดสิวได้ เช่น propionibacterium acnes เป็นต้น
  • การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ โรคในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ คออักเสบ ปอดบวม ทอนซิลอักเสบ ซึ่งอาการของโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียมักจะรุนแรงกว่าการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียที่มักก่อโรคในทางเดินหายใจมีหลายชนิด เช่น Streptococcus pneumoniae นอกจากนี้ ยังมีเชื้อ Mycobacterium tuberculosis ที่ก่อโรควัณโรคด้วย
  • การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ โดยปกติทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง จะมีเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นที่ไม่ก่อโรคอาศัยอยู่ แต่บางครั้งเราก็อาจติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ จนเกิดการอักเสบและลุกลามมายังทางเดินปัสสาวะส่วนบนได้ เชื้อที่มักก่อโรคในทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ Escherichia coli รวมถึงแบคทีเรียแกรมลบรูปร่างแท่ง (Gram negative bacilli) ชนิดอื่นๆ
  • การติดเชื้อที่ทางเดินอาหาร โรคติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหารที่พบบ่อย ได้แก่ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ที่เกิดจากเชื้อ Helicobacter pylori และโรคลำไส้อักเสบและอาหารเป็นพิษ ซึ่งมักทำให้เกิดอาการปวดบิดเกร็งท้อง และท้องร่วง ที่เกิดจากเชื้อหลายชนิด เช่น Escherichia coli และ Shigella spp. รวมถึงอหิวาตกโรค ที่เกิดจากเชื้อ Vibrio cholerae ด้วย
  • การติดเชื้อที่ระบบสืบพันธุ์ โรคในระบบสืบพันธุ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย ได้แก่ โรคหนองในแท้ ซึ่งสาเหตุมาจากเชื้อ Neisseria gonorrhoeae โรคหนองในเทียม ที่มาจากเชื้อ Chlamydia Trachomatis และโรคซิฟิลิส ที่เกิดจากแบคทีเรีย Treponema pallidum โดยโรคดังกล่าวติดต่อกันได้ทางการมีเพศสัมพันธ์
  • การติดเชื้อในระบบประสาท โรคที่พบบ่อยโดยเฉพาะในเด็ก ได้แก่ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) ซึ่งเกิดได้จากเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เช่น Neisseria meningitidis, Haemophilus influenzae หรือแบคทีเรียที่ลุกลามมาจากทางเดินหายใจ นอกจากนี้ แบคทีเรียบางชนิดยังสามารถสร้างสารพิษที่ส่งผลต่อระบบประสาทได้ เช่น เชื้อ Clostidium tetani ที่ก่อโรคบาดทะยัก   
  • การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจากแหล่งอื่นๆ และลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดไปยังทั่วร่างกาย ซึ่งเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวอาจมาจากระบบหรืออวัยวะใดก็ได้ และเป็นเชื้อชนิดใดก็ได้ หากเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดขึ้น ถือเป็นภาวะรุนแรงฉุกเฉินที่อาจทำให้ผู้ป่วยช็อกและเสียชีวิตได้

อาการจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
อาการของโรคติดเชื้อแบคทีเรียนั้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าแบคทีเรียจะก่อโรคที่ส่วนไหนของร่างกาย แต่อย่างไรก็ตาม มีอาการร่วมกันบางอย่างที่พบได้ในการติดเชื้อแบคทีเรียแทบทุกชนิด ได้แก่

  • มีไข้ ตัวร้อน ซึ่งอาจเป็นไข้ต่ำๆ หรือมีไข้สูงหนาวสั่น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
  • มีการอักเสบ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียจะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันร่างกายตอบสนอง และเกิดการอักเสบขึ้น ซึ่งอาการที่บ่งชี้ถึงการอักเสบ ได้แก่ รู้สึกเจ็บปวด เช่น เจ็บคอ ปวดท้อง และบริเวณที่ติดเชื้อมีลักษณะบวมแดง เช่น ผิวหนังบวมแดง เป็นต้น
  • เป็นหนอง หรือฝี ซึ่งภายในตุ่มหนองจะมีของเหลวสีเขียวเหลืองข้น และมีเศษเซลล์แบคทีเรียที่ตายแล้ว เซลล์เนื้อเยื่อ และเซลล์เม็ดเลือดขาวปะปนอยู่ หนองนั้นเกิดได้ทั้งที่ผิวหนังและอวัยวะภายใน เช่น ปอด เป็นต้น

การรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย

  • การใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นแนวทางการรักษาเบื้องต้นที่สำคัญที่สุด โดยชนิดของยาที่ใช้ขึ้นอยู่กับประเภทของแบคทีเรีย ความรุนแรงของโรค การดื้อยาของเชื้อ และการให้ยาอาจเป็นรูปแบบยาทาน หรือยาฉีดทางหลอดเลือดดำก็ได้
  • การใช้ยาแก้ปวดลดไข้ เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ โดยยาที่ใช้ ได้แก่ ยาพาราเซตามอลสำหรับลดไข้ และยาแก้อักเสบบางชนิด
  • การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การผ่าตัดฝีและหนอง และการดูดระบายน้ำออกจากปอดในผู้ป่วยโรคปอดบวม เพื่อบรรเทาความรุนแรงของโรค รวมถึงการฉีดสารต้านทานเชื้อ หรือเซรุ่ม สำหรับผู้ป่วยโรคบาดทะยักด้วย

การป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
โรคติดเชื้อแบคทีเรียนั้นติดต่อได้ทั้งจากสิ่งแวดล้อม และจากคนสู่คน ดังนั้น เราจึงควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อโรคได้ โดย…

  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะแบคทีเรียที่เราสัมผัสอยู่เป็นประจำและไม่ก่อโรค หากร่างกายเราอ่อนแอลงแบคทีเรียดังกล่าวก็อาจก่อโรคได้
  • รักษาความสะอาดและสุขอนามัย โดยการล้างมือก่อนทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ เลือกทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ จัดการที่อยู่อาศัยไม่ให้สกปรก อาบน้ำชำระร่างกายเป็นประจำ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อโรค
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยสวมถุงยางอนามัย และหากทราบว่าคู่นอนเป็นโรคติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาให้หาย
  • ไม่กลั้นปัสสาวะบ่อยๆ เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะได้
  • หลีกเลี่ยงการทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น หรือไม่ได้อยู่ในการควบคุมของแพทย์ เพราะจะทำให้แบคทีเรียประจำถิ่นที่มีประโยชน์ถูกกำจัด ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียก่อโรค และอาจส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเหล่านั้นดื้อยาด้วย

Product & Solution

  • Angiography
  • CT SCAN
  • MRI
  • Ultrasound
  • X-ray

ที่อยู่

356 Soi Ladphrao 94(Panchamit)Ladphrao Rd., Plab-Pla,
Wangthonglang, Bangkok 10310

Hotline

Tel : 02-9347851

Fax : 02-9347331

E-mail : info@healthcareent.co.th

Copyright © 2019 – HealthCare Enterprises

เส้นเลือดอุดตัน

เส้นเลือดอุดตัน

ภาวะเส้นเลือด/หลอดเลือดดำอุดตันมีอันตรายถึงชีวิตถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือรักษา

ภาวะหลอดเลือดดำอุดตันเกิดจากลิ่มเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดดำส่วนลึกที่พบมากในบริเวณขา ภาวะนี้เป็นอันตรายได้ ลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำนี้สามารถหลุดไปยังบริเวณปอด ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary embolism) ซึงอันตรายถึงชีวิต กรมควบคุมโรค (Centers of Disease Control and Prevention; CDC) ประเมินว่า คนอเมริกัน จำนวน 900,000 คน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ และคนอเมริกันเสียชีวิตจากภาวะนี้มากถึง 100,000คนต่อปี

อาการและการวินิจฉัย
อาการของโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอาจจะเริ่มจากไม่มีอาการอะไรเลย หรือมีอาการปวด  หรือ บวมของขา แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ถ้าคุณพบว่ามีอาการของลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ และสำคัญอย่างยิ่งคือให้พบแพทย์ทันทีถ้าคุณมีอาการของลิ่มเลือดอุตันที่ปอด

อาการของลิ่มเลือดอุดตันในปอด (pulmonary embolism) คือ

  • หายใจไม่สะดวกเฉียบพลัน หรือ ไม่ทราบสาเหตุ
  • แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก โดยที่อาการแย่ขึ้นเมื่อหายใจลึก หรือ ไอ
  • เวียนศรีษะ หน้ามืด
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • อาการไอเป็นเลือด
  • โดยประมาณ 25%ของโรคลิ่มเลือดอุดตันในปอด พบการเสียชีวิตเฉียบพลันก่อนที่จะได้รับการวินิจฉัย

แพทย์อาจจะแนะนำการตรวจเพิ่มเติมดังนี้

  • การตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดดำเพื่อตรวจหาลิ่มเลือด
  • เจาะเลือดเพื่อตรวจค่าดีไดเมอร์ (D-dimer) เป็นค่าบ่งบอกถึงการมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
  • การถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดดำ (venography X-ray) เพื่อตรวจหาลิ่มเลือดที่ขาและเท้า
  • ตรวจเอ๊กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือเครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อตรวจดูเส้นเลือดดำส่วนลึก

สาเหตุของโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ

  • ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดตั้งแต่กำเนิด
  • การนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน
  • อัมพาต
  • การบาดเจ็บของขาที่เกี่ยวเนื่องถึงเส้นเลือดดำ
  • น้ำหนักตัวมาก หรือมีโรคอ้วน
  • การใช้ยาคุมกำเนิด หรือ ฮอร์โมนทดแทน
  • ตั้งครรภ์
  • มะเร็ง
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • กลุ่มโรคที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร (Inflammatory bowel disease) ได้แก่ โรคโครห์น (Crohn’s disease) และโรค ulcerative colitis
  • ในกลุ่มโรคมะเร็ง หรือ การรักษาโรคมะเร็งบางชนิด อาจจะมีการเพิ่มของสารบางอย่างทำให้เลือดเกิดการแข็งตัวเป็นลิ่มเลือดได้ ถ้ามีภาวะหัวใจล้มเหลว จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ และลิ่มเลือดอุดตันในปอด เนื่องจากการทำงานของหัวใจ และปอดลดลง การมีภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมาก ทำให้ความดันของเส้นเลือดดำในขา และเชิงกรานมีมากขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือด
  • การตั้งครรภ์เพิ่มความเสี่ยงของภาวะนี้ได้ และยังมีความเสี่ยงนานไปถึงหลังคลอด 6 สัปดาห์ (ผู้หญิงที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดแต่กำเนิดจะมีความเสี่ยงที่สูงขึ้น)
  • การใช้ยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนทดแทน จะเพิ่มให้เลือดมีการแข็งตัวที่มากขึ้น
  • การสูบบุหรี่เพิ่มให้เลือดแข็งตัวมากขึ้น นั่นหมายถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
  • ประวัติในครอบครัว หรือ ประวัติการเกิดโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ หรือ ลิ่มเลือดในปอดในอดีต จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดซ้ำได้ในอนาคต
  • อายุที่มากขึ้นเกิน 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ แต่โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกอายุ
  • สุดท้าย การนั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ เช่นการเดินทางบนเครื่องบิน หรือบนรถ สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำได้ ลิ่มเลือดจะเกิดขึ้นจากในบริเวณน่อง เมื่อกล้ามเนื้อไม่ได้ขยับติดต่อกันเป็นเวลานาน

การรักษาโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ

  • ยาลดการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants)
  • ยาละลายลิ่มเลือด (thrombolytics)
  • ตะแกรงกรองลิ่มเลือด (filters)
  • การผ่าตัดเพื่อเอาลิ่มเลือดออก

ยาลดการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) จะเป็นการรักษาอันดับแรกของโรคนี้ ถึงแม้ว่ายาไม่ได้ทำหน้าที่ในการสลายลิ่มเลือด แต่มันจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดใหม่ขึ้น แพทย์จะเริ่มฉีดยาลดการแข็งตัวของเลือดในระยะแรกให้ หลังจากนั้นอาจจะให้คุณฉีดยาเอง ตัวอย่างของยากลุ่มนี้ได้แก

  • Enoxaparin
  • Dalteparin
  • Fondaparinux
  • Heparin

ยาลดการแข็งตัวของเลือดกลุ่มรับประทานได้แก่ warfarin, rivaroxaban, apixaban หรือ edoxaban ยากลุ่มนี้มักจะต้องรับประทานติดต่อกัน 3 เดือนขึ้นไป  แพทย์จะส่งตรวจเลือดเป็นประจำเพื่อวัดระดับค่าการแข็งตัวของเลือด ยาในกลุ่มนี้ทุกตัวควรต้องดูแลภายใต้การควบคุมของแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอาการข้างเคียงอื่นๆ ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytics – tissue plasminogen activators) เป็นยาที่ให้ทางหลอดเลือดดำ หรือสายสวนทางหลอดเลือด เพื่อฉีดสลายลิ่มเลือดที่อุดตันอยู่ ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงที่อันตราย ซึ่งมักใช้ในภาวะฉุกเฉินที่ต้องจำเป็นในการใช้ยานี้โดยเฉพาะ ตะแกรงกรองลิ่มเลือด (filter) ถ้าคุณไม่สามารถใช้ยาลดการแข็งตัวของเลือดได้ ทางเลือกของการผ่าตัดใส่ตะแกรงกรองลิ่มเลือดที่ใส่เข้าไปในเส้นเลือดดำใหญ่ (inferior vena cava) ตะแกรงกรองลิ่มเลือดเหล่านี้จะป้องกันไม่ให้ลิ่มเลือดหลุดเข้าไปในปอด ท้ายสุดการใส่ถุงน่องแบบรัดเพิ่มความดัน (compression stockings) ที่ขาจะช่วยลดการบวมของจากภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน
ลิ่มเลือดอุดตันในปอดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ต้องระวังให้มากที่สุด เกิดจากลิ่มเลือดกระจายไปอุดตันที่เส้นเลือดในปอด ซึ่งส่วนมากมาจากเส้นเลือดดำที่ขา ภาวะนี้อันตรายถึงชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษา ภาวะอาการหลังเกิดเส้นเลือดอุดตัน (Post-thrombolic syndrome) เป็นอีกหนึ่งภาวะแทรกซ้อนที่พบมากหลังเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน สาเหตุเกิดจากการอักเสบที่หลอดเลือดดำทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณดังกล่าวลดลง โดยจะมีอาการ

  • บวม หรือ ปวดขาทั้งสองข้าง
  • สีผิวเปลี่ยนไป
  • เจ็บที่ผิวหนัง
  • สุดท้ายภาวะความดันในปอดสูง (pulmonary hypertension) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบน้อยจากการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด โดยจะเกิดเมื่อลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดแดงไม่สลายไปและยังอุดตันต่อเนื่อง
Copyright © 2019 – HealthCare Enterprises

ลำไส้อักเสบเรื้อรัง

ลำไส้อักเสบเรื้อรัง

โรคลำไส้อักเสบ (Enteritis) คือภาวะที่เกิดการอักเสบของเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก ซึ่งส่วนมากเกิดจากเชื้อโรคหรือสารพิษที่ปนเปื้อนในอาหาร ลำไส้อักเสบนั้นพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยส่วนใหญ่จะเกิดอาการแบบเฉียบพลัน ซึ่งจะดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่บางรายอาจเกิดอาการแบบเรื้อรังนานเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค

สาเหตุของลำไส้อักเสบ  
การบาดเจ็บและอักเสบของเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก มักมีสาเหตุจากอาหารที่ทานเข้าไปนั้นปนเปื้อนเชื้อโรค หรือสารพิษที่ระคายเคืองทางเดินอาหาร แต่บางครั้งก็เกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดลำไส้อักเสบ ได้แก่

  • มีการติดเชื้อในลำไส้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในอาหาร เช่น E.coli, Salmonella และ Shigella ลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อมักเป็นอาการแบบเฉียบพลัน และการติดเชื้อแต่ละชนิดก็อาจพบอาการแตกต่างกันด้วย
  • ได้รับสารพิษในอาหาร เช่น การทานเห็ดพิษเข้าไป การดื่มน้ำหรือทานอาหารที่มีโลหะปนเปื้อน ซึ่งสารพิษบางอย่างอาจทำให้เกิดอาการในระบบอื่นๆ นอกเหนือจากลำไส้อักเสบด้วย
  • เป็นผลจากยาบางชนิด เช่น ยากลุ่ม NSAIDs, Ibuprofen หากทานยาอย่างต่อเนื่อง ก็อาจทำให้มีอาการลำไส้อักเสบแบบเรื้อรังได้
  • เป็นโรคออโตอิมมูน หรือโรคภูมิต้านทานตัวเอง เช่น โรคโครห์น (Crohn’s disease) ซึ่งทำให้เกิดลำไส้แปรปรวนและลำไส้อักเสบเรื้อรัง
  • แพ้อาหารบางชนิด เช่น คนที่แพ้แลคโทส หรือแพ้กลูเทน เมื่อทานอาหารที่มีสารอาหารเหล่านี้มักเกิดอาการปวดท้องได้
  • เป็นผลจากการรักษามะเร็ง โดยการฉายรังสีและการใช้ยาเคมีบำบัด อาจทำให้เนื้อเยื่อในช่องท้องอักเสบได้ รวมทั้งเยื่อบุผนังลำไส้ด้วย

อาการของลำไส้อักเสบ

  • ปวดท้องบิดรุนแรงเป็นพักๆ หรือปวดท้องหน่วงๆ
  • ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ บางครั้งอาจถ่ายมีมูกเลือดปน
  • คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร
  • อาจมีไข้สูง หนาวสั่น โดยเฉพาะในคนที่มีอาการเฉียบพลัน
  • คนที่มีอาการลำไส้อักเสบแบบเรื้อรัง อาจมีน้ำหนักลด ขาดสารอาหาร เนื่องจากการดูดซึมอาหารในลำไส้ผิดปกติ
  • หากท้องร่วงและอาเจียนหลายครั้ง อาจพบภาวะร่างกายขาดน้ำ คือมีอาการอ่อนเพลีย ตาแห้ง ปากแห้ง ผิวแห้ง ซึ่งเป็นภาวะอันตรายที่ต้องรีบรักษาโดยด่วน

การดูแลตัวเองและการรักษาโรคลำไส้อักเสบ
โรคลำไส้อักเสบ มีแนวทางการดูแลและรักษา ดังนี้

  • ผู้ป่วยต้องได้รับสารน้ำและแร่ธาตุทดแทน โดยการดื่มน้ำผสมเกลือแร่ หรือการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ ซึ่งเกิดจากการท้องร่วงและอาเจียนหลายครั้ง
  • ในช่วงที่มีอาการ ระบบย่อยอาหารจะยังทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน และทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย รสไม่จัด เช่น ซุป โจ๊ก
  • โดยทั่วไปโรคลำไส้อักเสบแบบเฉียบพลันมักหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยารักษา นอกจากการให้น้ำเกลือเท่านั้น แต่หากมีอาการรุนแรงมากและมีไข้ อาจทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล และถ้าพบว่าสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะด้วย
  • ถ้ามีอาการลำไส้อักเสบแบบเรื้อรัง แพทย์อาจให้ยา Corticosteroids เพื่อลดการอักเสบ ซึ่งยานี้จะมีผลข้างเคียงคือ ทำให้หน้าบวม มีขนขึ้น กระสับกระส่าย ไปจนถึงความดันสูง จึงไม่ควรใช้ต่อเนื่องหากไม่จำเป็น

การป้องกันโรคลำไส้อักเสบ

  • ควรทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุก เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับอาหาร
  • รักษาสุขอนามัยให้ดี โดยการล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนทานอาหารทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เยื่อบุทางเดินอาหารระคายเคือง เช่น การทานอาหารรสจัด และการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น และการทานยาดังกล่าวควรอยู่ในความควบคุมของแพทย์เท่านั้น
Copyright © 2019 – HealthCare Enterprises

มีวัตถุหรือสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในร่างกาย

มีวัตถุหรือสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในร่างกาย

การกลืนสิ่งแปลกปลอมลงสู่ทางเดินอาหารสามารถพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เด็กมักกลืนโดยไม่ตั้งใจ มักพบในกลุ่มอายุ 1-5 ปี.1,2 ผู้ใหญ่สามารถพบได้โดยที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงวัย, ผู้มีความรู้สึกตัวผิดปกติ (เช่น dementia, เสพติดสารมึนเมา เป็นต้น), ผู้ที่ใส่ฟันปลอม3 (ความรู้สึกบริเวณเพดานปากลดลง ทำให้อาจจะกลืนสิ่งแปลกปลอมได้โดยไม่รู้สึก), ผู้ป่วยทางจิต และนักโทษ1,3,4 (เพราะไม่อยากถูกคุมขังหรือลงโทษในคุก).

ประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วย สิ่งแปลกปลอมผ่านออกจากร่างกายได้เองโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ จะมีเพียงประมาณร้อยละ 10 ที่ต้องเอาออกโดยการส่องกล้อง และมีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ต้องผ่าตัด.1-3

ชนิดของสิ่งแปลกปลอม
เหรียญเป็นสิ่งแปลกปลอมที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก ส่วนในผู้ใหญ่ ก้อนอาหารอุดกั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมที่พบบ่อยที่สุด.1 การจำแนกชนิดของสิ่งแปลกปลอมที่กลืนเข้าไปมีส่วนช่วยในการตัดสินใจในการรักษา โดยทั่วไปควรแยกวัตถุเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

  • สิ่งแปลกปลอมลักษณะทู่
  • สิ่งแปลกปลอมลักษณะแหลมหรือมีคม เช่น ไม้จิ้มฟัน, กระดูกไก่, เข็ม, ใบมีดโกน เป็นต้น.
  • แบตเตอรี่ขนาดต่างๆ ได้แก่ ขนาดเท่าเม็ดกระดุม, AA และ AAA พบว่าร้อยละ 10 ของผู้ป่วยที่กลืนแบตเตอรี่ขนาดเท่าเม็ดกระดุมจะมีอาการ โดยที่ก่อให้เกิดปัญหามักมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 21 มิลลิเมตร3 การที่แบตเตอรี่มีสารละลายด่างเข้มข้น ได้แก่ NaOH หรือ KOH เมื่อรั่วจะกัดกร่อนเนื้อเยื่อให้เหลวอย่างรวดเร็ว.1,3 นอกจากนี้ แบตเตอรี่ยังอาจทำลายเนื้อเยื่อโดยแรงกดเบียด (pressure necrosis) หรือโดยการเผาไหม้ด้วยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆได้ด้วย.3

อาการและอาการแสดง
เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมติดในหลอดอาหารผู้ป่วยจะแสดงอาการ ได้แก่ กลืนลำบาก, เจ็บขณะกลืน, เจ็บใต้ sternum, ไม่สบายคอหอย, น้ำลายสอ, อาเจียน หรือสำลัก และอาจหายใจผิดปกติ ได้แก่ stridor, ไอ, choking และ respiratory distress ได้โดยเกิดจากวัตถุอยู่ในหลอดอาหารส่วนต้นกดหลอดลมที่อยู่ด้านหน้า4,5 หรืออาจจะเกิดจากมีวัตถุในทางเดินหายใจ.
การกลืนสิ่งแปลกปลอมในเด็กมักมีผู้พบเห็น บางครั้งไม่มีผู้พบเห็น แต่ถ้าเด็กมีอาการที่ชวนสงสัย ได้แก่ สำลัก, อาเจียน, น้ำลายมีเลือดปน, หายใจติดขัด, ไอเรื้อรัง, ไม่ยอมกินอาหาร, wheezing, stridor หรือ retraction จะต้องนึกถึงภาวะนี้ด้วย.1,5
นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการ ใดๆ ก็ได้ ดังนั้น เพียงประวัติที่ชวนสงสัยหรือมีการหายใจผิดปกติที่ไม่รู้สาเหตุ โดยเฉพาะในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ความรู้สึกตัวผิดปกติ ก็ให้เริ่มต้นทำการสืบค้นได้เลย.6

การตรวจร่างกายจะต้องเริ่มจากในปากและช่องคอเสมอ6 โดยเฉพาะถ้าตำแหน่งที่ชี้อยู่บริเวณ suprasternal notch ซึ่งการตรวจที่ห้องฉุกเฉิน สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ถึงตำแหน่งต่ำสุดที่ hypopharynx (ก่อนจะถึงตำแหน่งของกระดูกอ่อน cricoid และกล้ามเนื้อ cricopharyngeus ที่เป็น จุดเริ่มต้นของหลอดอาหาร) ก่อนทำการตรวจจะต้อง เตรียมเครื่องมือที่ใช้ตรวจและนำวัตถุแปลกปลอมออกมา ได้แก่ ไฟส่องที่สว่างเต็มที่, ยาชาเฉพาะที่แบบพ่นที่คอ, ไม้กดลิ้น, indirect laryngeal mirror, direct laryngoscope และ forceps (Crocodile และ Magill) ให้พร้อมที่จะนำสิ่งแปลกปลอมออกได้ทันที ที่พบ.

ภาวะแทรกซ้อน
เมื่อสิ่งแปลกปลอมผ่านลงสู่กระเพาะอาหาร อาการต่างๆ ก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว ยกเว้นว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น ภาวะแทรกซ้อนที่สามารถพบได้ ได้แก่

  1. การอุดตัน อาจเกิดที่ใดก็ได้ในทางเดินอาหาร แต่มักจะเกิดที่ pylorus, duodenal C-loop, ligament of Treitz และ ileocecal valve.
  • ถ้าเกิดที่หลอดอาหาร จะทำให้ผู้ป่วย ไม่สามารถกลืนอะไรได้เลยรวมถึงน้ำลาย ทำให้เสี่ยงต่อการสำลักสารคัดหลั่งได้ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถจัดการกับน้ำลายตัวเองได้.
  • ถ้าเกิดที่กระเพาะอาหาร, ลำไส้เล็ก หรือลำไส้ใหญ่ จะมีอาการปวดท้อง, ท้องอืด หรืออาเจียน.
  1. การทะลุของทางเดินอาหาร อาจเกิดที่ใดก็ได้ แต่หลอดอาหารและ terminal ileum เป็นตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุด.1,3,4
  • ถ้าเกิดที่หลอดอาหาร จะมีอาการไข้สูง กลืนเจ็บอย่างมาก และเจ็บปวดหน้าอกทะลุ หลัง.
  • ถ้าเกิดที่กระเพาะอาหาร, ลำไส้เล็ก หรือลำไส้ใหญ่ จะมีอาการไข้, ปวดท้องร่วมกับการตรวจหน้าท้องพบลักษณะของช่องท้องอักเสบเฉพาะที่หรือทั่วไป.
  1. การบาดเจ็บเยื่อบุ ซึ่งจะมีอาการแสดง ได้แก่ hematemesis, melena หรือ hematochezia ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดการทะลุ, ตีบตัน หรือ fistula ได้ในระยะยาว.

 

การสืบค้น
พิจารณาทำในผู้ป่วยที่สงสัยทุกราย6 โดยการถ่ายภาพรังสีลำคอ (ด้วยเทคนิคเน้นแสดง soft tissue)4, ทรวงอก และช่องท้อง ทั้งท่าหน้าหลัง และท่าด้านข้าง เพื่อดูทั้งสิ่งแปลกปลอม (ชนิด, ตำแหน่ง, จำนวน) และภาวะแทรกซ้อน1 การถ่ายภาพรังสีในท่าด้านข้างของลำคอและทรวงอก จะช่วยแยกว่าวัตถุ อยู่ในทางเดินอาหารหรือทางเดินหายใจ

Copyright © 2019 – HealthCare Enterprises

มีรอยแตกหักของกระดูก

มีรอยแตกหักของกระดูก

กระดูกหัก (Bone Fracture) คือภาวะที่กระดูกได้รับแรงกระแทกมากเกินไป ส่งผลให้กระดูกไม่สามารถรองรับน้ำหนักจากแรงดังกล่าวได้ และเกิดหัก ก่อให้เกิดอาการปวด เสื่อมสมรรถภาพในการทำงาน รวมทั้งมีเลือดออกและได้รับบาดเจ็บบริเวณรอบกระดูกที่ได้รับแรงกระแทก โดยทั่วไปแล้ว กระดูกจัดเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยแคลเซียมและเซลล์กระดูก ตรงกลางกระดูกจะอ่อนกว่า เรียกว่าไขกระดูก ซึ่งทำหน้าที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง กระดูกแต่ละส่วนจะประกอบกันเป็นโครงสร้างกระดูกที่รองรับร่างกาย ช่วยในการเคลื่อนไหว และปกป้องอวัยวะภายในของร่างกาย หากร่างกายได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง จะส่งผลให้กระดูกแตกหรือหักได้

โดยทั่วไปแล้ว กระดูกหักสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กระดูกหักชนิดไม่มีแผล (Closed Fracture) และกระดูกหักแบบแผลเปิด (Open หรือ Compound Fracture) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • กระดูกหักชนิดไม่มีแผล (Closed Fracture) คือ กระดูกหัก แต่ผิวหนังไม่ได้รับบาดเจ็บใด ๆ
  • กระดูกหักแบบแผลเปิด (Open หรือ Compound Fracture) คือ กระดูกที่ทิ่มผิวหนังออกมา หรือได้รับบาดเจ็บจนผิวหนังเปิด ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้สูง

นอกจากนี้ กระดูกหักยังแบ่งตามลักษณะของกระดูกที่หักได้อีกหลายประเภท ดังนี้

  • กระดูกหักทั่วไป (Simple Fracture) คือ กระดูกที่แตกออกเป็น 2 ชิ้น
  • กระดูกยุบตัว (Compression Fracture) คือ กระดูกที่เกิดการยุบตัวเมื่อได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง
  • กระดูกหักเป็นเกลียว (Spiral Fracture) คือ ภาวะกระดูกที่หักเป็นเกลียว ซึ่งเกิดจากกระดูกถูกบิด
  • กระดูกเดาะ (Greenstick Fracture) คือ กระดูกที่แตกเพียงด้านเดียว ส่วนกระดูกอีกด้านโก่งไปตามแรงกดที่ปะทะเข้ามา ภาวะนี้มักเกิดขึ้นกับเด็ก เนื่องจากกระดูกของเด็กมีความยืดหยุ่นมากกว่ากระดูกของผู้ใหญ่
  • กระดูกแตกย่อย (Comminuted Fracture) คือ ภาวะที่กระดูกแตกออกเป็น 3 ชิ้นขึ้นไป
  • กระดูกหักตามขวาง (Transverse Fracture) คือ กระดูกที่แตกออกตามแนวขวางซึ่งเป็นส่วนที่สั้นของกระดูก ไม่ได้เกิดรอยแตกไปตามแนวยาวของกระดูก
  • กระดูกหักเฉียง (Oblique Fracture) คือ กระดูกที่เกิดการแตกเป็นแนวโค้งหรือลดหลั่นลงมา
  • ปุ่มกระดูกแตก (Avulsion Fracture) คือ กระดูกที่หักจากแรงกระชาก มักพบที่หัวไหล่และหัวเข่า
  • กระดูกหักยุบเข้าหากัน (Impacted Fracture) คือ ภาวะที่กระดูกทั้ง 2 ด้านได้รับแรงกด ส่งผลให้กระดูกแตกทั้ง 2 ด้าน เด็กเล็กมักเกิดกระดูกหักฝังที่แขน
  • กระดูกหักล้า (Stress Fracture) คือ กระดูกที่ปริออกจากกัน ซึ่งเกิดจากการใช้งานซ้ำ ๆ
  • กระดูกหักจากพยาธิสภาพ (Pathologic Fracture) คือ ภาวะกระดูกหักที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของกระดูกหรือการป่วยเป็นโรคที่ทำให้มวลกระดูกเสื่อมลง

อาการกระดูกหัก
กระดูกหักถือเป็นภาวะบาดเจ็บที่ต่างจากปัญหากระดูกอื่น ๆ เนื่องจากผู้ป่วยกระดูกหักจะเกิดอาการหลายอย่าง ผู้ที่ประสบภาวะนี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที โดยผู้ป่วยจะเกิดอาการ ดังนี้

  • รู้สึกปวดกระดูกหรือรอบ ๆ บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง โดยอาการจะแย่ลงเมื่อเคลื่อนไหวอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บ หรือได้รับแรงกดที่บริเวณดังกล่าว
  • เกิดอาการบวมบริเวณกระดูกที่ได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้ยังเกิดรอยช้ำและเลือดออกจากผิวหนัง
  • อวัยวะผิดรูป เช่น แขนหรือขาผิดรูป โดยแขนหรือขาจะงอ หรือหักบิดในลักษณะที่ผิดปกติ
  • เคลื่อนไหวแขนขาได้น้อย หรือเคลื่อนไหวไม่ได้เลย
  • รู้สึกชา และเกิดเหน็บชา
  • ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดกระดูกทิ่มผิวหนังออกมา

สาเหตุของกระดูกหัก
กระดูกแต่ละส่วนในร่างกายนั้นมีความแข็งแรง ซึ่งทำหน้าที่รับแรงกระแทกจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม หากได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง กระดูกก็สามารถแตกและหักได้ โดยกระดูกหักมักเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

  • ประสบอุบัติเหตุ เช่น รถชน ส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส
  • ถูกตีหรือได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง
  • ตกลงมาจากที่สูง
  • ตกลงมากระแทกพื้นที่แข็งมาก
  • ได้รับแรงกระแทกจากการเคลื่อนไหว เช่น เล่นกีฬาที่ต้องลงน้ำหนักมากเกินไป ซึ่งทำให้เท้า ข้อเท้า หน้าแข้ง หรือสะโพก เกิดกระดูกปริได้
  • ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนหรือมะเร็งบางชนิด ส่งผลให้มวลกระดูกเสื่อมลงและหักได้ง่าย หากได้รับแรงกระแทกเพียงเล็กน้อยจากการทำกิจกรรมหรือประสบอุบัติเหตุ ก็สามารถประสบภาวะกระดูกหักที่ร้ายแรงได้
  • ในกรณีของเด็กที่กระดูกหัก อาจเกิดจากการถูกทารุณกรรม

การวินิจฉัยกระดูกหัก
โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะวินิจฉัยกระดูกหัก โดยตรวจบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บและเอกซเรย์กระดูกผู้ป่วย ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายที่ไม่พบความผิดปกติหลังเอกซเรย์แต่แพทย์สันนิษฐานว่าเกิดกระดูกหัก อาจต้องใส่เฝือกอ่อนดามกระดูกไว้ก่อนประมาณ 10-14 วัน แล้วมาเข้ารับการเอกซเรย์อีกครั้ง เพื่อตรวจดูว่ามีกระดูกหักหรือไม่ หากผู้ป่วยเกิดกระดูกหัก จะปรากฏรอยหักชัดขึ้น เช่น รอยกระดูกหักที่ข้อมือ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดกระดูกหักบริเวณข้อมือ สะโพก หรือประสบภาวะกระดูกหักล้า อาจต้องเข้ารับการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (CT scan) หรือตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) หรือสแกนกระดูก เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีเอกซเรย์อาจแสดงภาพกระดูกหักบริเวณดังกล่าวไม่ชัดเจน ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยภาวะกระดูกหักเรียบร้อยแล้ว อาจต้องรับการตรวจเพิ่มเติมอีก เพื่อดูว่าเนื้อเยื่อที่อยู่ล้อมรอบกระดูกนั้นเกิดความเสียหายหรือไม่

ผู้ป่วยที่กะโหลกศีรษะแตกจะได้รับการทำซีทีสแกนแทนการเอกซเรย์กระดูก ซึ่งการทำซีทีสแกนจะช่วยวินิจฉัยภาวะกระดูกหักที่เกิดขึ้นบริเวณกะโหลก รวมทั้งบาดแผลอื่น ๆ ที่ถูกกระทบกระเทือน เช่น เลือดออกในสมอง ส่วนเด็กที่ประสบภาวะกระดูกหักจะได้รับการตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยภาวะดังกล่าว ทั้งนี้ การวินิจฉัยสำหรับเด็กเล็กอาจทำได้ยาก เนื่องจากกระดูกของเด็กยังไม่เจริญเต็มที่ อีกทั้งกระดูกหลายส่วนภายในร่างกายยังเป็นกระดูกอ่อนและไม่มีมวลแคลเซียมสะสมภายในกระดูก

การรักษากระดูกหัก
ผู้ป่วยกระดูกหักจะได้รับการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ โดยวิธีรักษากระดูกหักประกอบด้วยการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จัดเรียงกระดูก ใส่เฝือก และผ่าตัด ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ผู้ป่วยที่ประสบภาวะกระดูกหักควรได้รับการรักษาทันที โดยต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อน ผู้ที่เข้าช่วยเหลือและปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหักจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประชาชนทั่วไป และผู้ที่ผ่านการอบรมปฐมหลักสูตรปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งมีรายละเอียด  ดังนี้

การปฐมพยาบาลสำหรับประชาชนทั่วไป

  • โทรเรียกรถพยาบาลโดยเร็วที่สุด
  • ประคบน้ำแข็งบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ และยกอวัยวะดังกล่าวให้สูง เพื่อลดอาการบวม
  • ล้างแผลด้วยสบู่และน้ำเปล่าสะอาดเบา ๆ เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียเข้าแผล
  • ปิดแผลให้เรียบร้อยด้วยผ้าพันแผล
  • ในกรณีที่เข้าช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่แขนหรือขา ควรนำหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารมาม้วนห่อแขนหรือขาเพื่อช่วยดามไว้ เพื่อช่วยไม่ให้แขนหรือขาที่ได้รับบาดเจ็บขยับ รวมทั้งช่วยให้กระดูกไม่เคลื่อน
  • ผู้ป่วยที่เกิดกระดูกหักตรงขาส่วนบน กระดูกสันหลัง อุ้งเชิงกราน หรือสะโพก ไม่ควรเคลื่อนไหวร่างกาย ให้รอจนกว่ารถพยาบาลจะมา เนื่องจากการเคลื่อนไหวจะทำให้บริเวณดังกล่าวบาดเจ็บมากกว่าเดิม
  • งดให้ผู้ป่วยรับประทานน้ำหรืออาหารจนกว่าจะพบแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับการผ่าตัด

การปฐมพยาบาลสำหรับผู้ที่ผ่านการอบรม

  • ตรวจดูว่าผู้ป่วยหายใจอยู่หรือไม่ โทรเรียกรถพยาบาล และปฐมพยาบาลด้วยวิธีซีพีอาร์ (Cardiopulmonary Resuscitation: CPR) รวมทั้งพยายามทำให้ผู้ป่วยมีสติ
  • ห้ามเลือดผู้ป่วย โดยใช้ผ้าขนหนูแห้งสะอาดวางปิดแผล หากเลือดยังไม่หยุดไหล ให้กดห้ามเลือดไปตรงบริเวณที่เลือดไหลออกมา
  • ในกรณีที่เข้าช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจนผิวหนังเปิดออกและมีอุปกรณ์การแพทย์ไม่เพียงพอ ควรรินน้ำสะอาดล้างแผลและปิดแผลด้วยผ้าสะอาดให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ไม่ควรเป่าแผลหรือถูขยี้แผลแรง
  • ดามกระดูกบริเวณที่หัก โดยดามทั้งด้านบนและด้านล่างของบริเวณดังกล่าว
  • ประคบเย็นและยกอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บให้สูง เพื่อลดอาการปวดบวม
  • ควรให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกขาให้ขึ้นสูงกว่าศีรษะประมาณ 30 เซนติเมตร และห่มด้วยผ้าห่ม เพื่อป้องกันผู้ป่วยเกิดอาการช็อค อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ คอ หรือหลัง ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเด็ดขาด
  • ประเมินการไหลเวียนเลือดของผู้ป่วย โดยกดเบา ๆ เหนือบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ เช่น ผู้ป่วยเกิดกระดูกหักที่ขา ควรกดที่เท้าเพื่อดูการไหลเวียนเลือด เมื่อกดลงไป บริเวณดังกล่าวจะขาวซีดและค่อย ๆ แดงเลือดฝาดขึ้นมา ทั้งนี้ หากเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงไม่พอ ผู้ป่วยจะตัวซีดเขียว เกิดอาการชา และสัญญาณชีพอ่อนลง ควรจัดแขนและขาผู้ป่วยให้อยู่ในท่าพักที่สบาย เพื่อลดอาการบวม ปวด และเนื้อเยื่อตายจากการขาดเลือด
  • จัดเรียงกระดูก วิธีนี้คือการจัดแนวกระดูกที่หักให้อยู่ในตำแหน่งเดิม เพื่อป้องกันไม่ให้ชิ้นส่วนกระดูกที่หักหลุดออกจากกัน โดยแพทย์จะเอกซเรย์ผู้ป่วยเพื่อวินิจฉัยลักษณะกระดูกหัก จากนั้นจะรักษาโดยจัดเรียงแนวกระดูกที่ได้รับบาดเจ็บให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติก่อนใส่เฝือก การจัดเรียงกระดูกจะช่วยให้กระดูกกลับมาแข็งแรงและเคลื่อนไหวได้ตามปกติและรักษากระดูกหักให้หายได้ ทั้งนี้ เด็กที่ประสบภาวะกระดูกหักหรือผู้ป่วยกระดูกหักแบบทั่วไปและไม่มีแผลนั้นจะได้รับการจัดเรียงกระดูกทันที
  • ใส่เฝือก หลังจัดเรียงกระดูกแล้ว แพทย์จะพันแผลบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ และใส่เฝือกปูนเพื่อพยุงกระดูกบริเวณที่เกิดอาการหัก ส่วนผู้ป่วยที่เกิดกระดูกหักตรงบริเวณที่ไม่สามารถใส่เฝือกได้ในทันที เช่น กระดูกไหปลาร้าหัก แพทย์จะใช้อุปกรณ์คล้องแขนเพื่อช่วยพยุงกระดูกแทน ผู้ป่วยจะได้รับยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดกระดูก ทั้งนี้ แพทย์จะเริ่มฟื้นฟูกระดูกผู้ป่วยให้เร็วที่สุด โดยการฟื้นฟูนี้จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด เสริมสร้างกล้ามเนื้อ รวมทั้งป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและข้อติดแข็ง
  • ผ่าตัด ผู้ป่วยที่เกิดกระดูกหักร้ายแรง โดยมีกระดูกทิ่มออกมาข้างนอกจะได้รับการผ่าตัดก่อนจัดเรียงกระดูกและใส่เฝือก โดยแพทย์จะผ่าตัดเศษแผลให้แก่ผู้ป่วยกระดูกหักที่มีกระดูกทิ่มผิวหนังออกมา เพื่อนำเศษเนื้อออกมาให้หมดก่อนทำการจัดเรียงกระดูก เนื่องจากกระดูกที่ทิ่มออกมาอาจติดเชื้อได้ ทั้งนี้ ระหว่างเข้ารับการผ่าตัดแผล แพทย์อาจใส่หมุด แผ่นเหล็ก สกรู หรือกาว เพื่อยึดกระดูกที่หักเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อได้รับการจัดเรียงกระดูกแล้ว แพทย์จะให้ใส่เฝือก อุปกรณ์ดามกระดูก หรือใช้วิธีตรึงกระดูก เพื่อลดอาการปวดและรักษากระดูกหัก

หลังถอดเฝือกหรืออุปกรณ์ดามกระดูกออกแล้ว ผู้ป่วยอาจเกิดอาการข้อติดแข็ง บวม และมีเนื้อปูดอยู่หลายสัปดาห์ เด็กอาจมีขนขึ้นที่แขนหรือขา เนื่องจากเฝือกทำให้รูขุมขนระคายเคือง ผู้ที่กระดูกขาหักอาจเดินไม่สะดวก อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวจะหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์ กระดูกที่หักจะใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ก่อนจะกลับไปแข็งแรงเหมือนเดิม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์และไม่หักโหมใช้อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บมากเกินไป ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองหลังได้รับการรักษากระดูกหักจากแพทย์ได้ ดังนี้

  • ควรเลี่ยงอยู่ใกล้ของร้อนหรือมีอุณหภูมิสูง เพื่อป้องกันปูนที่ใช้ทำเฝือกละลาย รวมทั้งควรนำถุงพลาสติกมาหุ้มเฝือกและปิดให้สนิทเมื่อต้องอาบน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้บริเวณดังกล่าวเปียกน้ำ
  • ควรใช้ที่เป่าผมเป่าบริเวณใส่เฝือกเมื่อเกิดอาการคัน
  • ไม่ควรใช้แขนมากเกินไป
  • เลี่ยงยกของหนักและขับรถจนกว่าอาการกระดูกหักจะหายดี
  • หากเกิดอาการบวม เขียวซีด ขยับนิ้วหรือเท้าไม่ได้ เกิดอาการชา หรือปวดมากขึ้น ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกหัก
ผู้ป่วยกระดูกหักอาจมีลักษณะแนวกระดูกของแขนและขาที่ผิดปกติ หรือเฝือกปูนไม่รองรับพอดีกับอวัยวะที่ต้องได้รับการใส่เฝือกเพื่อดามกระดูก ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถประสบภาวะแทรกซ้อนจากกระดูกหักได้ โดยภาวะแทรกซ้อนจากกระดูกหักแบ่งออกเป็นภาวะแทรกซ้อนระยะแรก และภาวะแทรกซ้อนระยะปลาย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

ภาวะแทรกซ้อนระยะแรก

  • หลอดเลือดแเดงบาดเจ็บ เช่น ผู้ป่วยที่กระดูกต้นขาหัก อาจเกิดภาวะหลอดเลือดต้นขาฉีกขาดได้
  • ผู้ป่วยที่กระดูกซี่โครงหักหลายชิ้นสามารถประสบภาวะปอดแตก โพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (Pneumothorax) ภาวะอกรวนหรือภาวะการทำงานล้มเหลวของซี่โครง (Flail Chest) และหายใจไม่พอ (Respiratory Compromise)
  • สูญเสียการเคลื่อนไหวของร่างกาย ก่อให้เกิดปอดบวม หลอดเลือดอุดตัน หรือกล้ามเนื้อสลาย โดยภาวะนี้มักเกิดกับผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกหัก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมาก
  • อวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บ เช่น เกิดการบาดเจ็บที่สมอง ปอด หรือกระเพาะปัสสาวะ
  • เนื้อเยื่อ เส้นประสาท และผิวหนังถูกทำลาย
  • เกิดภาวะเลือดออกในข้อ (Haemarthrosis)
  • แผลติดเชื้อ
  • เกิดความดันในกล้ามเนื้อสูงขึ้น (Compartment Syndrome)

ภาวะแทรกซ้อนระยะปลาย

  • กระดูกที่หักใช้เวลารักษานานกว่าปกติ ไม่สามารถกลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติได้ หรืออาการไม่หายดี
  • เกิดอาการข้อติดแข็ง
  • กล้ามเนื้อหดตัว
  • การเจริญเติบโตของกระดูกผิดปกติ หรือกระดูกผิดรูป
  • เกิดภาวะกล้ามเนื้ออักเสบที่มีหินปูนจับ (Myositis Ossificans) โดยผู้ป่วยจะมีก้อนกระดูกเกิดขึ้นในกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ
  • หัวกระดูกต้นขาตาย เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง
  • ประสบภาวะกระดูกอักเสบ (Osteomyelitis)
  • เกิดเนื้อตายเน่า (Gangrene)
  • อาจป่วยเป็นบาดทะยักและติดเชื้อในกระแสเลือด เนื่องจากได้รับบาดเจ็บจนเกิดแผล

การป้องกันกระดูกหัก
กระดูกหักเป็นปัญหาสุขภาพที่ป้องกันได้ โดยเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงทำให้ประสบภาวะดังกล่าว ซึ่งทำได้ ดังนี้

  • ควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับรถหรือโดยสารรถยนต์ รวมทั้งสวมอุปกรณ์ที่ป้องกันการกระแทกเช่น หมวกกันน็อค หรือสนับเข่า มือ และข้อศอก เมื่อต้องขับขี่จักรยานยนต์หรือทำกิจกรรมผาดโผนต่าง ๆ
  • ไม่ควรวางของทิ้งไว้ตามทางเดินหรือบันได เนื่องจากอาจทำให้สะดุดล้มได้ รวมทั้งควรปิดหน้าต่างหรือมีทางกั้นตรงทางขึ้นลงบันได เพื่อป้องกันเด็กเล็กพลัดตกลงไป
  • ควรดูแลเด็กให้ดี เพื่อระวังไม่ให้เล่นซนจนเกิดอุบัติเหตุ
  • เมื่อต้องใช้บันไดหรือนั่งร้าน ควรเลี่ยงยืนอยู่บนบันไดขั้นบนสุด รวมทั้งให้คนอื่นจับบันไดไว้ขณะที่ปีนขึ้นไป
  • ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและสมดุลให้มวลกระดูก รวมทั้งปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานแคลเซียมเสริม
Copyright © 2019 – HealthCare Enterprises

มีนิ่วในไตหรือในถุงน้ำดี

มีนิ่วในไตหรือในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones) คือการเกิดก้อนนิ่วจากการตกผลึกของสารต่างๆ ภายในถุงน้ำดี ซึ่งก้อนนิ่วอาจมีขนาดใหญ่หรือเล็ก และอาจมีหลายก้อนก็ได้ ถุงน้ำดีเป็นอวัยวะที่อยู่ในช่องท้องใกล้กับตับ และมีหน้าที่เก็บน้ำดีซึ่งมีส่วนสำคัญในการย่อยอาหาร การเกิดนิ่วในถุงน้ำดีจึงอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง และทำให้การทำงานของถุงน้ำดีผิดปกติได้

อาการของนิ่วในถุงน้ำดี
หากก้อนนิ่วมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการ แต่หากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่หรือมีจำนวนมาก จนทำให้ท่อน้ำดีอุดตัน ก็อาจส่งผลให้มีอาการผิดปกติได้ ดังนี้

  • ปวดท้องด้านขวาบนอย่างรุนแรง อาจปวดร้าวไปถึงหลัง สะบักขวา และหน้าอก
  • คลื่นไส้ อาเจียน พะอืดพะอม
  • อาจมีอาการอาหารไม่ย่อย จุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อได้

หากนิ่วในถุงน้ำดีไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นได้ เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ ท่อน้ำดีอักเสบ และตับอ่อนอักเสบ ซึ่งจะแสดงอาการที่เด่นชัดขึ้น เช่น อาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดท้องรุนแรงมาก จนลุกนั่งไม่ได้

สาเหตุของนิ่วในถุงน้ำดี
ก้อนนิ่วในถุงน้ำดีนั้นเกิดจากการตกผลึกของสารประกอบในน้ำดี 2 ชนิด ได้แก่ คอเลสเตอรอล และบิลิรูบิน นิ่วที่เกิดจากคอเลสเตอรอล (cholesterol gallstones) จะพบได้บ่อยกว่า และมีลักษณะเป็นก้อนสีขาว เหลือง หรือเขียว ในขณะที่นิ่วที่เกิดจากบิลิรูบิน (pigment gallstones) จะมีสีน้ำตาลหรือดำ ดังนั้น ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี จึงได้แก่

  • ภาวะที่น้ำดีมีคอเลสเตอรอลมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากร่างกายมีคอเลสเตอรอลสูง ตับจึงขับคอเลสเตอรอลออกมาในน้ำดีมาก โดยเฉพาะในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน เป็นเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือกล้ามเนื้อถุงน้ำดีไม่สามารถบีบตัวนำคอเลสเตอรอลออกมาได้ ทำให้มีคอเลสเตอรอลตกค้างอยู่
  • ภาวะที่น้ำดีมีบิลิรูบินมากเกินไป อาจเกิดจากโรคที่ทำให้ตับสร้างบิลิรูบินมาก เช่น โรคตับแข็ง โรคตับอักเสบ หรือเกิดจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก เช่น ในภาวะโลหิตจาง หรือโรค G6PD เป็นต้น
  • ภาวะที่น้ำดีมีความเข้มข้นมาก ทำให้คอเลสเตอรอลและบิลิรูบิน มีโอกาสตกตะกอนและรวมตัวกับสารอื่นๆ ในน้ำดีกลายเป็นก้อนนิ่วได้สูง

การรักษานิ่วในถุงน้ำดี
หากก้อนนิ่วมีขนาดเล็กมาก และไม่มีอาการผิดปกติ ก็อาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่หากก้อนนิ่วมีแนวโน้มจะขนาดใหญ่ขึ้น และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ก็ต้องรักษาตามแนวทางดังนี้ ใช้ยาสลายนิ่ว
หากก้อนนิ่วมีขนาดไม่ใหญ่มาก และเป็นนิ่วที่เกิดจากคอเลสเตอรอล แพทย์มักให้ยาที่มีฤทธิ์ละลายก้อนนิ่ว ซึ่งได้แก่ ยา Chenodiol และยา Ursodiol แต่ยาดังกล่าวก็อาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อย คืออาการท้องเสียที่ไม่รุนแรง

ผ่าตัดเอาก้อนนิ่วออก
การผ่าตัดเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้รักษานิ่วในถุงน้ำดีที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และในกรณีที่ก้อนนิ่วไปอุดตันท่อน้ำดี หรือเกิดภาวะถุงน้ำดีอักเสบ การผ่าตัดอาจใช้วิธี ผ่าแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy) ซึ่งเป็นวิธีใหม่ที่แพทย์นิยมใช้ เนื่องจากประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย แผลมีขนาดเล็กลง ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด และลดเวลาพักฟื้นได้มาก แต่หากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่มาก และเกิดภาวะถุงน้ำดีอักเสบรุนแรง ก็จำเป็นต้อง ผ่าแบบเปิดหน้าท้อง (Open Cholecystectomy) ร่วมกับการส่องกล้องเพื่อหาก้อนนิ่วในท่อน้ำดี ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เกิดแผลขนาดใหญ่ และต้องใช้เวลาพักฟื้นนานกว่า

การพักฟื้นหลังผ่าตัด ในกรณีที่ผ่าตัดแบบส่องกล้อง แผลจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก จึงอาจจำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาล 2-3 คืน จากนั้นก็กลับมาพักฟื้นที่บ้านอีก 2-3 สัปดาห์ ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย

 

การป้องกันนิ่วในถุงน้ำดี

ควบคุมน้ำหนัก และระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยการออกกำลังกายและควบคุมอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้มีการหลั่งคอเลสเตอรอลในน้ำดีมากเกินไป
หากต้องการลดน้ำหนัก ควรลดอย่างถูกวิธีและค่อยเป็นค่อยไป เพราะการที่น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว จะทำให้ตับหลั่งคอเลสเตอรอลในน้ำดีมากกว่าปกติ

Copyright © 2019 – HealthCare Enterprises