Select Page

โรคลำไส้อักเสบ (Enteritis) คือภาวะที่เกิดการอักเสบของเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก ซึ่งส่วนมากเกิดจากเชื้อโรคหรือสารพิษที่ปนเปื้อนในอาหาร ลำไส้อักเสบนั้นพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยส่วนใหญ่จะเกิดอาการแบบเฉียบพลัน ซึ่งจะดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่บางรายอาจเกิดอาการแบบเรื้อรังนานเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค

สาเหตุของลำไส้อักเสบ  
การบาดเจ็บและอักเสบของเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก มักมีสาเหตุจากอาหารที่ทานเข้าไปนั้นปนเปื้อนเชื้อโรค หรือสารพิษที่ระคายเคืองทางเดินอาหาร แต่บางครั้งก็เกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดลำไส้อักเสบ ได้แก่

  • มีการติดเชื้อในลำไส้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในอาหาร เช่น E.coli, Salmonella และ Shigella ลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อมักเป็นอาการแบบเฉียบพลัน และการติดเชื้อแต่ละชนิดก็อาจพบอาการแตกต่างกันด้วย
  • ได้รับสารพิษในอาหาร เช่น การทานเห็ดพิษเข้าไป การดื่มน้ำหรือทานอาหารที่มีโลหะปนเปื้อน ซึ่งสารพิษบางอย่างอาจทำให้เกิดอาการในระบบอื่นๆ นอกเหนือจากลำไส้อักเสบด้วย
  • เป็นผลจากยาบางชนิด เช่น ยากลุ่ม NSAIDs, Ibuprofen หากทานยาอย่างต่อเนื่อง ก็อาจทำให้มีอาการลำไส้อักเสบแบบเรื้อรังได้
  • เป็นโรคออโตอิมมูน หรือโรคภูมิต้านทานตัวเอง เช่น โรคโครห์น (Crohn’s disease) ซึ่งทำให้เกิดลำไส้แปรปรวนและลำไส้อักเสบเรื้อรัง
  • แพ้อาหารบางชนิด เช่น คนที่แพ้แลคโทส หรือแพ้กลูเทน เมื่อทานอาหารที่มีสารอาหารเหล่านี้มักเกิดอาการปวดท้องได้
  • เป็นผลจากการรักษามะเร็ง โดยการฉายรังสีและการใช้ยาเคมีบำบัด อาจทำให้เนื้อเยื่อในช่องท้องอักเสบได้ รวมทั้งเยื่อบุผนังลำไส้ด้วย

อาการของลำไส้อักเสบ

  • ปวดท้องบิดรุนแรงเป็นพักๆ หรือปวดท้องหน่วงๆ
  • ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ บางครั้งอาจถ่ายมีมูกเลือดปน
  • คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร
  • อาจมีไข้สูง หนาวสั่น โดยเฉพาะในคนที่มีอาการเฉียบพลัน
  • คนที่มีอาการลำไส้อักเสบแบบเรื้อรัง อาจมีน้ำหนักลด ขาดสารอาหาร เนื่องจากการดูดซึมอาหารในลำไส้ผิดปกติ
  • หากท้องร่วงและอาเจียนหลายครั้ง อาจพบภาวะร่างกายขาดน้ำ คือมีอาการอ่อนเพลีย ตาแห้ง ปากแห้ง ผิวแห้ง ซึ่งเป็นภาวะอันตรายที่ต้องรีบรักษาโดยด่วน

การดูแลตัวเองและการรักษาโรคลำไส้อักเสบ
โรคลำไส้อักเสบ มีแนวทางการดูแลและรักษา ดังนี้

  • ผู้ป่วยต้องได้รับสารน้ำและแร่ธาตุทดแทน โดยการดื่มน้ำผสมเกลือแร่ หรือการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ ซึ่งเกิดจากการท้องร่วงและอาเจียนหลายครั้ง
  • ในช่วงที่มีอาการ ระบบย่อยอาหารจะยังทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน และทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย รสไม่จัด เช่น ซุป โจ๊ก
  • โดยทั่วไปโรคลำไส้อักเสบแบบเฉียบพลันมักหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยารักษา นอกจากการให้น้ำเกลือเท่านั้น แต่หากมีอาการรุนแรงมากและมีไข้ อาจทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล และถ้าพบว่าสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะด้วย
  • ถ้ามีอาการลำไส้อักเสบแบบเรื้อรัง แพทย์อาจให้ยา Corticosteroids เพื่อลดการอักเสบ ซึ่งยานี้จะมีผลข้างเคียงคือ ทำให้หน้าบวม มีขนขึ้น กระสับกระส่าย ไปจนถึงความดันสูง จึงไม่ควรใช้ต่อเนื่องหากไม่จำเป็น

การป้องกันโรคลำไส้อักเสบ

  • ควรทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุก เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับอาหาร
  • รักษาสุขอนามัยให้ดี โดยการล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนทานอาหารทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เยื่อบุทางเดินอาหารระคายเคือง เช่น การทานอาหารรสจัด และการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น และการทานยาดังกล่าวควรอยู่ในความควบคุมของแพทย์เท่านั้น
Copyright © 2019 – HealthCare Enterprises